วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กูรูยันไร้สัญญาณวิกฤติ เว้นการเมืองเดือด!


แบงก์ชาติ-คลัง-นักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์ ประเมิน "ภูมิต้านทาน" เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง รองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ เว้นการเมืองเดือด!
 โดย กรุงเทพธุรกิจ การเงินการลงทุน  วันที่ 2 กรกฎาคม 2555 11:00

ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังวิตกกับวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป แต่ย้อนอดีต "วันนี้" เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศเผชิญกับความเจ็บปวด บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการลงภายในเวลาชั่วข้ามคืน นักธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลือกวิธีจบชีวิตตัวเองไปพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือ ที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในนาม "วิกฤติต้มยำกุ้ง"
แม้ว่าเวลาล่วงผ่านไปแล้ว 15 ปี แต่วิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ยังตามหลอกหลอนคนไทยถึงวันนี้ มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ประสบการณ์ครั้งนั้นถือเป็นบทเรียนที่ดี ทำให้ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังการดำเนินงานของตัวเองกันมากขึ้น ทำให้วันนี้ภาคธุรกิจของไทย มี "ภูมิต้านทาน" ที่ได้จากวิกฤติต้มยำกุ้งและสามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นรอบใหม่ที่ถี่ขึ้นและใหญ่ขึ้นได้
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ถือว่ามีภูมิต้านทานต่อการเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจค่อนข้างดี เป็นผลจากบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวในหลายด้านทั้งด้านมหภาคและจุลภาค
"จะเห็นว่าเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนก็มีความยืดหยุ่นขึ้น ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ก็พยายามตัดปัญหาตั้งแต่ต้นลม อย่างเรื่องภาวะฟองสบู่ จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา เราก็ระมัดระวังค่อนข้างมาก คอยติดตามดูอยู่ตลอดเวลา"
@แบงก์รัฐ-เอกชนปรับบริหารเสี่ยงดีขึ้น
ส่วนภาคสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนหรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล ก็มีการปรับตัวในทิศทางที่ดี อย่างกรณีของธนาคารพาณิชย์เอกชน ได้ปรับระบบบริหารความเสี่ยงภายในไปค่อนข้างมาก หรือกรณีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็ได้เปลี่ยนกรอบการกำกับดูแลให้มีความเข้มงวดขึ้น
"ตลอด 15 ปีมานี้ ประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติดอทคอม วิกฤติซับไพร์ม ผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่วิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรปที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเรามีภูมิต้านทานที่ดีพอสมควร เพียงแต่เราเองก็ต้องไม่ประมาท คอยติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"ประสาร กล่าว
@บทเรียนปี 2540 ทำคนไทยระวังมากขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า การที่คนไทยยังรู้สึกหวาดกลัวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เราไม่ตั้งอยู่บนความประมาท เพราะวิกฤติเมื่อเกิดแล้วมันอาจเกิดขึ้นอีกก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่คิดว่าทุกอย่างไม่น่าจะมีปัญหา แต่พอมีปัญหาขึ้นถึงเวลานั้นก็อาจสายเกินไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายประสาร เชื่อว่า ณ ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาขึ้นในลักษณะเดียวกับวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และในส่วนของ ธปท. เองก็มีทีมงานที่ติดตามดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
@ศก.มีภูมิต้านทาน-งบดุลดีขึ้น
ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดปัจจุบัน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ถือว่ามีภูมิต้านทานที่ดีมาก สะท้อนจากงบดุลของบริษัทเอกชนที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง
"งบดุลเราเวลานี้ ถือว่ายอดเยี่ยม เป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่ดีมากของไทยในเวลานี้ เพราะในอดีตงบดุลของบริษัทต่างๆ เละเทะไปหมด ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมาก จะเห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปของไทยในเวลานี้ ไม่ส่งผลกระทบกับเรามากนัก"ณรงค์ชัย กล่าว
นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง ซึ่งเดิมเราเคยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับไม่ต่ำกว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันเงินสำรองฯ ได้ปรับขึ้นสูงเกือบระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง
@ชี้ภาคเอกชนปรับตัวไม่ลงทุนเกินตัว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภูมิต้านทานเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา เพราะว่าหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยพยายามรักษาวินัยด้านต่างๆ เอาไว้ ทั้งยังเพิ่มการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งขึ้น ที่สำคัญปัจจุบันงบดุลของบริษัทต่างๆ อยู่ในระดับที่ดีมาก
"งบดุลของทุกคนตอนนี้ดีมาก หมายความว่าเขาไม่ได้ทำอะไรที่เกินตัว ไม่ได้กู้เยอะ และแบงก์เองก็ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเยอะเกินไป รัฐบาลก็ไม่ได้มีหนี้สูงมากนัก ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทเรียนที่เราได้จากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งก่อน และตอนนี้ก็ยังไม่พบสัญญาณใดๆ ที่จะนำเราไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ เพราะวิกฤติถ้าจะเกิด มักเกิดจากการสะสมปัญหา และทำอะไรที่เกินตัว ซึ่งเวลานี้ยังไม่เห็นว่ามีการสะสมปัญหาหรือมีอะไรที่เกินตัว"กอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับบทเรียนที่ประเทศไทยได้เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือ อย่าทำอะไรที่เกินตัว เพราะทุกครั้งของการเกิดวิกฤติ ล้วนเกิดจากการทำอะไรที่เกินกำลังของตัวเองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิกฤติหนี้ภาครัฐ เช่น กรีซ วิกฤติหนี้ภาคธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในปี 2540 หรือวิกฤติหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสเปน เป็นต้น 
 ส่วนบทเรียนถัดมา คือ อย่าสะสมหนี้ เมื่อพบปัญหาควรเร่งแก้ไข เพราะถ้าปล่อยเอาไว้จะยิ่งลุกลามจนคุมไม่อยู่ กรณีของจีนถือเป็นตัวอย่างที่ดี จะเห็นว่าจีนเข้าแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ทำให้ยังสามารถดูแลปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน และบทเรียนสุดท้าย คือ ต้องพยายามเผื่อช่องว่างทางนโยบายเอาไว้ เพื่อที่เวลามีปัญหาจะได้มีเครื่องมือเพียงพอในการใช้แก้ไข
@สศค.ระบุเงินกองทุนแบงก์แกร่ง
สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า บทเรียนจากวิกฤติปี 2540 ทำให้ภาคธุรกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) สูงกว่า 15% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ระดับต่ำเพียง 2% เศษเท่านั้น 
 นอกจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพอย่างมาก ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.71 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่สูง สามารถใช้เป็นกันชน รองรับในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ อีกหนึ่งประเด็น คือ เราเรียนรู้ในเรื่องฐานะการคลัง จะเห็นว่าหนี้สาธารณะของไทยในเวลานี้หากจะปรับเพิ่ม ก็เป็นการเพิ่มเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาในอนาคต ขณะที่หนี้ต่อจีดีพีก็ยังอยู่ระดับต่ำ
@เอกชนตื่นตัวพร้อมรับมือหากมีวิกฤติ
"เวลานี้จะเห็นว่า ภาคเอกชนไทย มีความตื่นตัวอย่างมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งการที่เรามีการตื่นตัวที่ดีจึงทำให้เรามีความพร้อมสูงต่อการรองรับกับวิกฤติเศรษฐกิจหากจะมาเยือน และถ้ามองเวลานี้ระยะสั้นอย่างน้อย 4-5 ปีข้างหน้ายังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่าจะเกิดวิกฤติขึ้นกับประเทศไทยอีกครั้ง แต่ถ้าจะมีก็คงมาจากปัญหาด้านการเมืองมากกว่า ถ้าการเมืองยังรุนแรงถึงขั้นนองเลือดกันอีก เศรษฐกิจไทยอาจไม่พ้นต้องเผชิญวิกฤติอีกรอบหนึ่งได้"
ทั้งหมดนี้ คือ ความเห็นของ "นักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์" จากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทุกคนให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยเวลานี้นับว่าแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทางจากภาวะวิกฤติค่อนข้างดี อันเป็นบทเรียนจากประสบการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
แต่อย่าลืมว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ส่วนหนึ่งเกิดจาก "การโจมตีค่าเงินบาท" และ "การก่อหนี้ต่างประเทศที่เกินตัว"...กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพรุ่งนี้พบกับ ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อ "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน" อันเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 15 ปีก่อน กับรายงานเรื่อง "วิพากษ์...นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ "fixed" หรือ "floated" อย่างไหนเหมาะกับเศรษฐกิจไทย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น