วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555


ภารกิจต่อสังคม
เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ

ประเทศชาติที่เจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งย่อมเอื้ออำนวยให้คนในชาติมีความสุขและความมั่นคงในชีวิต อีกทั้งยังเป็นการปูรากฐานอันเป็นปึกแผ่นในอนาคตสำหรับคนรุ่นหลังอีกด้วย เศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแกร่งสูงสุดเมื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง เนื่องจากกิจการเหล่านี้ถือเป็น
รากฐานของระบบเศรษฐกิจที่สร้างงานและกระจายรายได้ให้แก่ประชากรทั่วประเทศ

ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการแบ่งปันทั้งในด้านองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทิศทางของการค้าและสภาวะตลาด รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ นอกเหนือจากให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีตามบทบาทปกติของธนาคาร

ด้วยตระหนักว่าภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพส่งเสริมให้เกษตรกรและ
ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนาภาคการเกษตรไม่เพียงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ หากยังจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านอื่นๆ อาทิ การรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมพลานามัยของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงในด้านแหล่งอาหาร

กิจกรรมเด่น

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม
มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม นอกเหนือจากการพักชำระหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษแล้ว ธนาคารยังได้พิจารณาให้สินเชื่อพิเศษสำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งมีทั้งสินเชื่อเพื่อการนำเข้าวัตถุดิบ ทดแทนวัตถุดิบในประเทศที่ขาดแคลนสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรหรืออะไหล่ เพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมเครื่องที่เสียหาย สินเชื่อระยะยาวเพื่อการซ่อมแซมและฟื้นฟูกิจการและสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ส่วนสินเชื่อสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี ประกอบด้วย “สินเชื่อบัวหลวงเอสเอ็มอีบรรเทาทุกข์จากอุทกภัย” เพื่อการฟื้นฟูกิจการ วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่าพิเศษ สำหรับเอสเอ็มอี โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ คือ ธนาคารออมสิน โดยให้สินเชื่อใหม่ และร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สินเชื่อใหม่ระยะเวลาสูงสุด 7 ปี ที่ บสย. คํ้าประกัน

นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี ด้วยสินเชื่อหมุนเวียน สำหรับกิจการที่ผลิตสินค้าและให้บริการที่จำเป็นต่อการฟื้นฟู ซ่อมแซม รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ต้องการเงินทุนสำหรับผลิตสินค้าเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติหลังน้ำลด และยังมีสินเชื่อบุคคล ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพนักงานของบริษัทที่จ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีพนักงานที่ธนาคารกรุงเทพ และมีความต้องการเงินเพื่อการซ่อมแซมบ้านหรือทรัพย์สินที่เสียหายจากอุทกภัย

สำหรับลูกค้าบุคคล ธนาคารผ่อนผันการชำระสินเชื่อบ้านแก่ลูกค้าที่ประสบอุทกภัย โดยให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 12 เดือนหรือลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุดร้อยละ 40 นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังมีสินเชื่อ
บัวหลวงพูนผล เพื่อการซ่อมแซมบ้าน หรือซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ส่วนลูกค้าบัตรเครดิต ธนาคารได้มีมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้แก่ลูกค้าผู้ประสบอุทกภัยด้วย

นอกจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวข้างต้น ธนาคารยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทุกกลุ่มในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูความเป็นอยู่และทรัพย์สินหลังน้ำลด เช่น แนะนำลูกค้าที่มีกรมธรรม์คุ้มครองความเสียหายจากอุทกภัยกับบมจ.กรุงเทพประกันภัย ในการดำเนินการเพื่อรับค่าสินไหมทดแทนได้รวดเร็วขึ้น และธนาคารยังยินดีสนับสนุนสินเชื่อระหว่างรอค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ ธนาคารยังให้คำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการด้านการซ่อมแซมและฟื้นฟู ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับซัพพลายเออร์และเครือข่ายลูกค้าใหม่สำหรับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินชีวิตหรือกิจการได้ตามปกติโดยเร็ว

สร้างสายสัมพันธ์สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี
ในปี 2554 ธนาคารร่วมกับชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี จัดการอบรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในจังหวัดสำคัญทั่วประเทศ และจัดงานสัมมนา รวมทั้งงานสัมมนากลางปีและประจำปีด้วย ซึ่งมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารจำนวนกว่า 4,200 คนเข้าร่วมการอบรมและสัมมนาดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ได้นำผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานในประเทศ 3 ครั้ง ต่างประเทศ 2 ครั้ง คือประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม และยังจัดงานบัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ ให้ลูกค้าผู้ประกอบการนำสินค้าและบริการมาจัดแสดงและจำหน่ายที่ลานหน้าสำนักงานใหญ่ สีลม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 โดยมีผู้สนใจเลือกซื้อสินค้าและบริการกว่า 2,000 คน

โครงการเกษตรก้าวหน้า
โครงการเกษตรก้าวหน้า เป็นโครงการที่ธนาคารดำเนินการมากว่า 11 ปี เพื่อสนับสนุนด้านความรู้ การลงทุนในเทคโนโลยี การสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน และการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เกษตรกรไทย ซึ่งช่วยพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ธนาคารได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรม โดยมีผู้เข้าฟังการสัมมนาทั้งสิ้น 1,070 คน และจัดงานวันเกษตรก้าวหน้าที่ลานด้านหน้าสำนักงานใหญ่ สีลม ในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาจำหน่าย ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจเลือกซื้อสินค้าในงานประมาณ 2,500 คน

โครงการพัฒนาวิสาหกิจครอบครัว
ธนาคารกรุงเทพร่วมกับ Babson College ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกในด้านการพัฒนาความเป็นเจ้าของกิจการและธุรกิจครอบครัว และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneurship Development Institute) หรือ CEDI มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินโครงการพัฒนาวิสาหกิจครอบครัว ด้วยมุ่งหวังให้วิสาหกิจครอบครัวไทย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถพัฒนาการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และพร้อมสำหรับการส่งมอบธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างราบรื่น โดยสร้างหลักสูตร “เพื่อนคู่คิด วิสาหกิจครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น” เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจครอบครัวในการส่งมอบกิจการให้ทายาท ซึ่งธนาคารได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการและกำลังเตรียมส่งมอบกิจการให้แก่ทายาทเข้าร่วมครั้งละ 10 ครอบครัว

การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัด “การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทาง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับแต่ปี 2536 เพื่อส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นทาง
วิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยในการประกวดครั้งที่ 17 ประจำปี 2553 คณะกรรมการได้ตัดสินให้ “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนหัวข้อสำหรับการประกวดครั้งที่ 18 ประจำปี 2554 ยังคงเป็นหัวข้อเดียวกับปี 2553 คือ “เครื่องจักรกล พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น