วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตหนี้กรีซยังไม่จบ! โจทย์แรก...ต่อรองมาตรการรัดเข็มขัด


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มองว่า ชัยชนะของ พรรค New Democracy เป็นการนับหนึ่งสู่การเริ่มต้นแห่งการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น เป็นการอุ้มประเทศกรีซกระโดดข้ามจากหุบเหว สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรค New Democracy ที่ชนะการเลือกตั้งมีเวลา 3 วันที่จะตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งหากฟอร์มรัฐบาลสำเร็จภาระกิจแรกที่ต้องเร่งดำเนินการคือเจรจาต่อรองขอผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดที่เป็นเงื่อนไขอันเข้มงวดจากแผนให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
เมื่อสถานการณ์พัฒนามาถึงจุดนี้ เชื่อว่าทางเจ้าหนี้กลุ่มยุโรป โดยเฉพาะแกนนำหลักอย่างประเทศเยอรมัน จะตกลงยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพความเสียหายที่เลวร้ายกระทบต่อทั้งภูมิภาคหรือลุกลามไปกระทบเศรษฐกิจโลกดังที่ฝ่ายวิเคราะห์ ขององค์กรเศรษฐกิจโลก หรือนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นอย่างมากจากความตื่นตระหนก การแห่ถอนเงินยูโรออกจากธนาคารในกรีซ จนเกิดภาวะแบงก์รัน หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง สังคมที่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในยูโรโซน จนสั่นคลอนภาวะการเงินการลงทุนทั้งตลาดโลก หลังจากแนวทางบีบบังคับประเทศลูกหนี้ให้รัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดกดดันให้เศรษฐกิจ และการลงทุนยิ่งหดตัว หนทางใช้คืนหนี้สินแทบไม่เกิดขึ้น
เมื่อการปฏิบัติตามหลักทางวินัยการคลัง เป็นคมดาบที่กลับมาทิ่มแทงเศรษฐกิจ เกือบหนึ่งเดือนที่ฝุ่นตลบก่อนการเลือกตั้ง ภาพกึ่งจินตนาการที่เลวร้ายทั้งราคาสินทรัพย์ทั้งโลก โดยเฉพาะในยุโรปดิ่งเหวลง หุ้น ทองคำ น้ำมัน ตัวเลขเศรษฐกิจ การส่งออก การจ้างงานและการผลิต ที่นำมาสู่การทำลายศรัทธาทางเศรษฐกิจอย่างการหั่นอันดับเครดิต ของบรรดาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ไม่เพียงเฉพาะกรีซ แต่ยังลามไปถึงสเปน อิตาลี และทุกธนาคารในยุโรปที่มีธุรกรรมเชื่อมโยงถึงกันหมด เป็นหนังตัวอย่างที่ฉายถึงผลพวงที่จะเกิดขึ้นหากกรีซต้องเดินออกจากยูโรโซน
ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมาทั้งกรีซ รวมทั้งประเทศในยูโรโซน ต่างผ่านประสบการณ์เฉียดตายกันมาแล้ว และตระหนักว่า การออกจากยูโรโซนของกรีซเป็นผลเสียมากกว่าผลดีกับทุกๆฝ่าย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการถอยคนละก้าวและยอมเจรจาผ่อนปรน ยุโรปต้องลดมาตรการเข้มงวดสุดขั้วลง และกรีซ ต้องเรียนรู้ที่จะมีวินัย และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตัวเองให้ค่อยๆดีขึ้น
"แม้วิกฤตจะยังไม่จบลง ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป คงจะต้องเลิกพูดถึงการออกจากยูโรโซน ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ในทางปฏิบัติแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหากมองถึง incentive หรือแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ การเมือง ขณะนี้ไม่มีใครต้องการ ทั้งสามพรรคการเมือง รวมถึงพรรคฝ่ายซ้ายยังประกาศชัดว่าจะไม่พากรีซออกจากยูโรโซน เพราะจากผลการเลือกตั้งและผลโพลล์สะท้อนว่าประชาชนกรีซก็ไม่ต้องการหลุดจากยูโรโซนไปเผชิญกับความเสี่ยงและอนาคตที่มืดมน กับความสามารถการแข่งขัน การผลิตที่อ่อนแอ ที่สำคัญที่สุดโครงการ ยูโรโซนที่ถูกผลักดันขึ้นมาเป็นมากกว่าเขตเศรษฐกิจ แต่เป็นเชิงการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในเวทีโลกกับมหาอำนาจอย่างอเมริกา การจัดตั้งภูมิรัฐศาสตร์นี้จึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แม้ว่าจะต้องแลกกับการอัดฉีดเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่กว่านี้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องทำ "ดร.กอบศักดิ์กล่าว
แม้สุดท้ายสงครามวิกฤตยังไม่จบ แต่ยังเป็นสัญญาณที่ดีว่า การผ่อนปรน และร่วมกันเดินไปในทิศทางเดียวกันแม้จะต้องออกแรงฉุดกระชากลากถูกันไปก็เป็นแสงสว่างส่องนำการแก้ไขปัญหาที่ถูกทางมากขึ้น
"ที่ผ่านมาทั้งกรีซ รวมทั้งประเทศในยูโรโซน ต่างผ่านประสบการณ์เฉียดตายกันมาแล้ว และตระหนักว่า การออกจากยูโรโซนของกรีซเป็นผลเสียมากกว่าผลดีกับทุกๆฝ่าย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ ถอยคนละก้าวและยอมเจรจาผ่อนปรน ยุโรปต้องลดมาตรการเข้มงวดสุดขั้วลง และกรีซ ต้องเรียนรู้ที่จะมีวินัย ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป คงจะต้องเลิกพูดถึงการออกจากยูโรโซน หากมองถึง Incentive หรือแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ไม่มีใครต้องการ ทั้งพรรคการเมืองกรีซ และประชาชนกรีซ ที่สำคัญโครงการยูโรโซนที่ถูกผลักดันขึ้นมาเป็นมากกว่าเขตเศรษฐกิจ แต่เป็นการถ่วงดุลอำนาจในเวทีโลก ผู้นำในกลุ่มจึงต้องพยายามทุกวิถีทางให้ยังเป็นหนึ่งเดียวได้ต่อไป"ดร.กอบศักดิ์กล่าว


ที่มา  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20120619/457404/วิกฤตหนี้กรีซยังไม่จบ!-โจทย์แรก...ต่อรองมาตรการรัดเข็มขัด.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น